แนวทางการดูแลสุขภาวะด้านจิตใจและการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนในพื้นที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

  

ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งเเนวทางการบริหารความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากฐานข้อมูลในระบบ Thai QM โดยกำหนดเเนวทางการบริหารความช่วยเหลือในระดับพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อเป็นการส่งเสริมการดูแลสุขภาวะด้านจิตใจและการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนในพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยได้วางเเนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สำหรับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยกำหนดกลไกการดำเนินการในระดับพื้นที่และแนวทางในการดำเนินตามแนวทางที่กำหนด ดังนี้ 


๑. กลไกการดำเนินการในระดับพื้นที่ ได้แก่
๑.๑ ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ใช้กลไกของผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่ม/ชมรม ต่าง ๆ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านหลัก "บวร" (บ้าน/วัด/(ศาสนสถาน)/โรงเรียน/ส่วนราชการ) /"บรม" (บ้าน/โรงเรียน/มัสยิด/ส่วนราชการ) เป็นต้น
๑.๒ ระดับตำบล ใช้กลไกการดำเนินงานของกำนัน แพทย์ประจำตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน (อปท.) กลุ่มชมรมต่าง ๆ ในระดับตำบล หลัก "บวร" (บ้าน/วัด/(ศาสนสถาน)/โรงเรียน/ส่วนราชการ) /"บรม" (บ้าน/โรงเรียน/มัสยิด/ส่วนราชการ) เป็นต้น
๑.๓ ระดับอำเภอ ใช้กลไกการดำเนินงานในบูรณาการร่วมกันระหว่างส่วนราชการ ระดับอำเภอ คณะกรรมการบริหารงานอำเภอแบบบูรณาการ (ก.บ.อ.) คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) โรงพยาบาลประจำอำเภอ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอำเภอ มูลนิธิ/สมาคม/องค์กรการกุศล/กลุ่ม/ชมรม ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ เป็นต้น
๑.๔ ระดับจังหวัด ใช้กลไกการดำเนินงานในการบูรณาการร่วมกันระหว่างส่วนราชการระดับจังหวัด คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญาหาทางเศรษฐกิจจังหวัด (กรอ.) ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัด หน่วยบริการ สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๒๐ หน่วย ศูนย์สุขภาพจิตทั้ง ๑๓ แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เป็นต้น


๒. แนวทางในการดำเนินงาน 
๒.๑ การดูแลสุขภาวะด้านจิตใจ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เน้นมาตรการเชิงรุกให้ความสำคัญการดูแลสุขภาวะด้านจิตใจของประชาชน
๒.๒ การแก้ไขเรื่องร้องเรียน / ร้องทุกข์ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาร้องเรียน/ร้องทุกข์ของประชาชน ผ่านกลไกการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพิจารณาคลี่คลายปัญหาตามอำนาจหน้าที่ให้ทันต่อสถานการณ์
๒.๓ การพิจารณาจัดตั้งโรงครัวในพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านพิจารณาจัดกิจกรรมตามความเหมาะสมเพื่อจัดหาอาหารให้เพียงพอ เช่น การจัดตั้งโรงครัวประจำจังหวัด การจัดตั้งโรงครัวประจำอำเภอ การจัดตั้งโรงครัวประจำตำบล การจัดตั้งโรงครัวประจำหมู่บ้าน/ชุมชน การจัดตั้งเครือข่ายแบ่งปันสิ่งของที่เหลือใช้ระหว่างครัวเรือน เป็นต้น 
๒.๔ การประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุกในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ผ่านหอกระจายข่าวและช่องทางอื่น ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งในด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวม มาตรการเยียวยาต่าง ๆ จากภาครัฐ การดูแลสุขภาพ การปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) การดูแลสุขภาวะด้านจิตใจ เป็นต้น

แนวทางการดูแลสุขภาวะด้านจิตใจ